แชร์

ตำนานปู่เจ้าสมิงพราย

อัพเดทล่าสุด: 10 ม.ค. 2025
292 ผู้เข้าชม

   เนื่องในโอกาสที่ทางสำนัก เพิ่งจะสร้างศาลถวายองค์บรมครูปู่เจ้าสมิงพราย

อันเป็นบรมครูที่ทางสำนักนับถือเป็นที่สุด เพื่อเป้นการแสดงถึงความรักและความศรัทธา

ของตัวผมที่มีต่อองค์ปู่เจ้าสมิงพรายท่าน ในโอกาสนี้จึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นมา

เพื่อให้เป็นเรื่องราวบันทึกถึงเรื่องราวของท่าน เนื่องจากระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

หลายคนรับรู้เรื่องราวของท่านอย่างผิดๆ จนบางครั้งแทบจะไม่ได้ตรงกับความเป็นตัวท่าน

ไปจนถึงเป็นการลดเกียรติ และความสำคัญของท่านไปโดยปริยาย

 



 

ความเข้าใจผิดหลักๆ ก็คือคิดกันเอาไปว่า ท่านเป็นเจ้าแห่งภูติพราย เป็นผู้คุมพราย

ที่บรรดาผู้เล่นผี เลี้ยงพราย สายพรายทั้งหลาย ต้องบูชาท่านไว้ เพื่อให้ท่านช่วยดูแลพราย

อีกเรื่องที่เข้าใจผิดก็คือ ท่านเป็นบรมครูทางเสน่ห์ เรื่องการทำเสน่ห์เล่ห์กล บรรดาหมอเสน่ห์ ผู้ชื่นชอบวิชาเสน่ห์ เล่นวิชาทางเสน่ห์ ต้องบูชาท่าน เพื่อเสริมพลังทางด้านวิชาอาคม..........ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ได้ถึงผิดไปอย่างสิ้นเชิง แต่นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนน้อย

แห่งคุณบารมีและความเป็นแห่งท่าน หากจะเห็นเพียงแค่ท่านเป็นบรมครูทางภูติพราย

และเสน่ห์  นั่นออกจะเป็นการปรามาส หมิ่นและดูแคลนความเป็นท่านและบารมีของท่านไปอย่างที่ไม่รู้ตัว

 

เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปู่ท่านยิ่งใหญ่และทรงอำนาจมากกว่านั้น อย่างที่หลายๆคนคิดกันไม่ถึง เรื่องราวทั้งหลายที่ผมเขียนจากนี้ มาจากการสืบเสาะ ค้นคว้า จากบันทึกตำราโบราณหลายๆเล่ม อ่านและไม่จำเป็นต้องเชื่อตามที่ผมเขียน และไม่ต้องถามหาหลักฐานใดๆ ใครมีข้อเห็นแย้งหรือเห็นไม่ตรงกับสิ่งที่ผมเขียน ผมก็ไม่คิดจะโต้แย้งใดๆ เอาว่าคติความเชื่อใคร ความเชื่อมั่น ถ้าคุณคิดว่าคุณรู้จักท่านดีแล้ว ก็ยึดถือเอาตามความเชื่อของคุณไป บทความนี้เป็นบันทึกเรื่องราวการค้นคว้าของตัวผมเอง ไม่ได้ต้องการให้ใครมาเปลี่ยนความเชื่อ ให้มาเชื่อตามผมแต่อย่างใด หากเข้าใจแล้วก็เชิญอ่านเรื่องราว และรู้จักท่านในมุมที่หลายๆคนอาจจะคิดกันไม่ถึงมาก่อน

 

 

ปู่เจ้าสมิงพราย ชื่อนี้เป็นชื่อที่คุ้นหูกัน เมื่อเริ่มต้นมีเครื่องรางสายพราย แพร่และและนิยม

ในวางการไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลัง และเป็นที่นิยมนับถือแพร่หลาย ราวๆ ๒๐-๓๐ ปี

ที่ผ่านมานี้ ซึ่งปู่เจ้าสมิงพรายจะว่าเป็นชื่อเรียกใหม่ก็ใช่ แต่อันที่จริงเป็นหนึ่งในหลายๆชื่อ

ที่ขานว่าเป็นนามของปู่ท่าน ชื่อที่เรียกขานท่านก็ได้แก่ ฤาษีกาลสิทธิ์ ฤาษีหน้าเสือ ฤาษีท้าวหิมวัตน์ และอีกชื่อที่คล้ายๆกับปู่เจ้าสมิงพราย คือ ปู่เจ้าสมิงไพร จนมาปัจจุบันนี้ ก็จะเหลือเพียงแค่นามเดียวก็คือ เจ้าสมิงพราย ตามบุคลาธิษฐาน คือฤาษีที่มีรูปลักษณ์เป็นคนแต่งกายชุดฤาษี หรือในชุดผู้ทรงพรต มีส่วนหัวเป็นเสือ ซี่งคือภาพจำที่เรายึดถือกันมาว่านี่คือองค์ปู่ท่าน

 

เหตุแห่งการนับถือท่าน ก็มาจากเรื่องราวในลิลิตพระลอ วรรณกรรมโบราณสมัยอยุทธยา

บันทึกเรื่องราวความรักของสองอาณาจักร ล้านนา กับอโยธยา มีเนื้อความตอนพระเพื่อนพระแพง ไปพบปู่เจ้าสมิงพรายกลางป่า

เพื่อขอให้ปู่ช่วยทำเสน่ห์ ให้พระลอหลงรักทั้งสอง หลายๆเรื่องราวในลิลิตพระลอ

คือบันทึกถึงเรื่องราวการที่ปู่เจ้าสมิงพราย ท่านใช้วิชาอาคมต่างๆ ทำเสน่ห์ยาแฝด เสกหมากสลาเหิร

วิชาเสน่ห์เล่ห์กลทั้งหลาย การใช้ภูติพราย เบิกเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาเมืองอยู่

เพื่อให้มนต์ต่างๆเข้าถึงตัวพระลอ อันเป็นหลักฐานว่าไสยเวทย์อาคมนั้นเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวางมานานแล้ว

 

หากแต่ในลิลิตพระลอ กล่าวถึงลักษณะของปู่เจ้าสมิงพรายท่านไว้ว่า มีรูปลักษณ์เป็นชายวัยไม่แก่ ไม่หนุ่ม ตาสวย คิ้วสวย ไม่ได้มีลักษณะมีหน้าเป็นเสือตามที่ยึดถือและบูชากันมาแต่อย่างใด แต่มีข้อสังเกตนึง ตรงที่ปู่ท่านได้รำพึงตอบคำถามพระเพื่อน พระแพงที่ถามถึงเรื่องราวของท่าน และท่านได้เอ่ยอย่างเหนื่อยหน่ายว่า นามคนเรียกขาน ปู่เจ้าสมิง(ไพร)พรายมีชีวิตอยู่มาแล้วนับกัลป์ และไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อใด

 

.....ถ้างั้นแล้วรูปลักษณ์ของฤาษีหน้าเสือ นั้นมาจากไหน และมาเมื่อไหร่กันล่ะ

คาดว่าน่าจะมาจากคติการนับถือ ฤาษีกาลสิทธิ์ ที่ท่านมีรูปลักษณ์ฤาษีที่มีส่วนหัวเป็นเสือ

แล้วก็จะมาสู่คำถามที่ว่า แล้วทำไมจึงนำฤาษีกาลสิทธิ์มาผูกเป็นตำนานเดียวกับปู่เจ้าสมิงพรายล่ะ อันนี้คงต้องย้อนกันไปยาวจนถึงตำนานของบันทึกโองการแช่งน้ำ ที่เป็นบันทึกเก่าแก่โบราณมาตั้งแต่แต่ต้นกรุงศรีอยุทธยา แต่ในบันทึกนั้นเอ่ยเพียงแค่นามสั้นๆว่า
ปู่เจ้าเท่านั้น ชื่อนามคำว่ากาลสิทธิ์นั้นมาปรากฏในช่วงหลังเพื่อให้มีนานเรียกขาน
กาลสิทธิ์ ก็ตามความหมาย คือปู่ผู้ที่ให้อำนาจ ในการกระทำใดๆทั้งหลายในเวลา(กาล)
ที่นี้ได้สำเร็จ

 แต่จากเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบในเชิงลึกว่า เหตุใด ท่านจึงมีใบหน้าเป็นเสืออยู่ดี

 

เอาล่ะดังนั้นเรามาว่ากันถึงเรื่องราวในเชิงลึกของเหตุที่มาแห่งใบหน้าเป็นเสือของท่าน

ย้อนไปช่วงต้นบทความ อีกนานที่เรียกขานท่านคือ ฤาษีท้าวหิมวัตน์ หลายๆคนรู้สึกว่าชื่อคุ้นๆ

เพราะท่านคือบิดาของพระนางปารวตี ซึ่งพระนางปารวตีก็คือพระแม่อุมาในภาคมนุษย์ก่อนสำเร็จเป็นพระแม่อุมา

จากการชี้แนะของพระอิศวร (ตำนานเป็นที่มาของฤาษีตบะแตก) ท้าวหิมวัตน์ ท่านคือเจ้าแห่งหุบเขา

ที่เชื่อกันว่าใหญ่โตและลี้ลับที่สุดของดินแดนชมภูทวีป(บางทีอาจจะของโลกนี้) ที่มีนามว่า เทือกเขาหิมาลัย

 

เมื่อรวมคติของปู่เจ้า ฤาษีกาลสิทธิ์ ท้าวหิมวัตน์ ปู่เจ้าสมิงพราย ก็จะพบว่าท่านคือ

เจ้าป่าเจ้าเขา และแน่นอนว่าความเชื่อของอุษาคเณย์ สิ่งที่ถือว่าเป็นเจ้าป่า เจ้าแห่งพงไพร ก็คือเสือ

ดังนั้นรูปลักษณ์ บุคลาธิษฐานคนที่มีหัวเป็นเสือ ก็พื้นฐานมาจากความเป็นเจ้าป่า เจ้าเขานี่ล่ะครับ

ดังนั้นนามที่แท้จริงของท่านก็คือ  "ปู่เจ้าสมิงไพร"

 

เหตุที่เชิญนามของท่านมาอยู่ในโองการแช่งน้ำเป็นลำดับแรก เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุด
ลี้ลับที่สุด อาถรรพ์มากที่สุด ก็คืออาถรรพ์จากป่า ที่มนุษย์นั่นยากที่จะเอาชนะได้

ยุคสมัยก่อนไม่ได้เข้าป่ากันง่ายๆแบบสมัยนี้ เข้าใกล้ป่าก็อาจจะถูกเสือกิน ไข้ป่าก็ไม่มีหนทางรักษา

แม้ในปัจจุบันก็ถือเป็นโรคร้ายแรงที่ยากต่อการรักษา ผีป่า ภูติแห่งพงไพรต่างๆ ก็มีความดุร้าย

ที่ไม่สามารถเอาพระ หมอผีมาไล่ได่ง่ายๆ แบบผีปรกติทั่วๆไป การรักษาขับไล่ผีป่า

ก็ต้องเชิญนามแห่งปู่เจ้ามาขับไล่ ในบันทึกตำราคาถาอาคมสมัยก่อน ที่เกี่ยวกับการไล่ผีป่า รักษาไข้ป่าต่างๆ

หรือแม้แต่ทำน้ำมนต์ก่อนจะเข้าไปในป่ากระทำการล่าสัตว์ ก็จะมีการเชิญนามของปู่เจ้าสมิงไพร หรือปู่เจ้า

มานมนานก่อนจะมีโองการแช่งน้ำ ที่เป็นบันทึก ที่เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกแล้ว ทุกวันนี้บางแห่งหลายๆที่

ผมยังพอเห็นศาลบางแห่งที่ใกล้ป่าแต่ก่อน หรือภูเขา ยังมีศาลที่มีรูปเคารพของปู่เจ้าฯท่านอยู่

และก็ยังมีชาวบ้านนำเนื้อดิบสดๆ มาถวายท่านอยู่ ซึ่งความเชื่อนี้ ก็ผ่านต่อมายังคนบูชาปู่เจ้าสมิงพรายในปัจจุบัน

ที่ยังมีเลี้ยงด้วยเนื้อดิบ หมูนอนตอง ความจริงแล้ว มันไม่ใช่เจตนาจะเลี้ยงภูติพรายด้วยเนื้อดิบเท่านั้น แต่ยังเป็นการบูชาปู่เจ้าสมิงไพรด้วย

 

ส่วนที่มาของทำไมถึงเป็นคำว่า สมิงไพร คำว่าสมิง เป็นคำมอญ ผู้มีตำแหน่งใหญ่โต

จะมีคำว่าสมิงอยู่ในชื่อ นอกจากนี้คำว่าสมิง จะมีความหมายว่า สิ่งที่อยู่เหนือ คือหากคำว่าสมิง
อยู่นำหน้าสิ่งใด นั่นก็คือที่สุดของสิ่งนั้น เช่น

สมิงไม้ ก็คือไม้กลายเป็นหิน

สมิงเหล็ก ก็คือเหล็กที่ไม่อาจหลอมได้

เสือสมิง ก็คือที่สุดแห่งเสือที่ฆ่าไม่ตาย

(บทความหน้าจะมีเรื่องราวของเสือสมิง ที่หลายๆคนยังไม่รู้ว่าเสือสมิงที่แท้จริงเป็นยังไง มาจากไหน รอติดตามอ่านกันได้)

 

คำเรียกขานปู่เจ้าสมิง(ไพร)พราย ที่แพร่หลายในปัจจุบัน ส่วนตัวผมคาดว่า น่าจะมาจากศาลของท่าน

ที่ตั้งอยู่ที่พระประแดง ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมอญ เมื่อมีศาลท่านจึงได้ใช้ชื่อนี้ แทบจะเป็นชื่อปู่เจ้าห้วนๆ หรือนามอื่นๆ

 

ซึ่งไหนๆแล่วก็แถมตำนานที่มาของชื่อถนน ปู่เจ้าสมิงไพร ให้ได้รับรู้กัน ชื่อนี้ตั้งตามป้อมปราการ ปู่เจ้าสมิงพราย

เป็นป้อมที่สร้างขึ้นเมื่อช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงยุครัชกาลที่ ๓ เหตุของการตั้งป้อมนี้

เพราะบริเวณนั้น เป็นปากน้ำก่อนเข้ากรุงเทพมหานคร หากข้าศึกจะมาทางน้ำ ก็จะยกพลมาขึ้นที่นี่

ช่วงเวลานั้น แม้พม่าจะอ่อนกำลังลง ตกอย่ในสภาพก่อนเสียเมืองให้อังกฤษ

ปัญหาอริราชศัตรูของสยามเวลานั้น ก็คือราชอาณาจักรเว้ หรือเวียดนาม

ที่ตอนนั้นกล้าแข็งมีอำนาจขึ้นมา ใครอยากรู้รายละเอียดเรื่องราวตรงนี้

ไปหาอ่านเอาในเรื่องราวของอานามสยามยุทธ ที่เรื่องราวนั้นยิ่งใหญ่ ซับซ้อน ไม่น้อยไปกว่าพงศาวดารตอนไหนๆหรือของชาติใด

มีหักเหลี่ยม เฉือนคม การดำเนินการการทูต ที่เสี้ยมและพยายามหยิบยืมกำลังของชาติมหาอำนาจเวลานั้น

อย่างจีน และอังกฤษ รวมกำลังกันมายกทัพบุกสยาม ในเวลานั้นจึงได้มีการสร้างป้อมปราการ

สำหรับต้านทานข้าศึกที่จะบุกมา

 

และแน่นอนว่า ย่อมต้องใช้ชื่อที่เป็นการตัดไม้ข่มนาม ชื่อที่เป็นการสาปแช่ง และแข็งแกร่งสามารถสร้างขวัญกำลังใจ

ให้ผู้คนไม่แตกตื่นขวัญหายไปกับข่าวการจะมาบุกของศัตรู ก็ย่อมต้องนำชื่อนาม ลำดับต้นๆ ที่อยู่ในโองการแช่งน้ำ

นาม ปู่เจ้าฯ หรือ ปู่เจ้าสมิงพราย ด้วยตั้งอยู่ในเขตชาวมอญจึงได้เป็นชื่อนี้

ต่อมาพ้นยุคแห่งสงครามความสำคัญของป้อมแห่งนี้ลดลงไป มีชุมชนบ้านเรือนเกิดขึ้นมีการตัดถนนผ่าน

จึงได้ใช้ชื่อว่า ถนนปู่เจ้าสมิงพราย มาตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน

 

ความเชื่อส่วนตัวของผมเอง หลังจากที่สร้างป้อมปราการนี้ขึ้นมา

อาณาจักรเว้ ที่เคยแข็งแกร่งจนถึงขนาดเตรียมการบุกยึดสยาม ก็เกิดปัญหาภายในแตกออกเป็นก๊ก

จนไปถึงการสูญสิ้นราชวงค์เว้ ไปในเวลาไม่นานหลังจากนั้น ผมเชื่อส่วนตัวว่าไม่มีความบังเอิญบนโลกใบนี้

ทุกสิ่งมีบางอย่างกำหนดและให้มันเป็นไปตามนั้น และผมเชื่อว่ามาคำสาปจากป้อมปราการที่สร้างขึ้นมาเพื่อสาปแช่งอริราชศัตรู

นามว่าป้อมปู่เจ้าสมิงพรายนี่ล่ะครับ

นี่เป็นเรื่องราวและที่มาของชื่อนามแห่งท่าน ปู่เจ้าสมิงพราย ผู้เป็นเจ้าป่าเจ้าเขา

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่นับถือมาแต่ช้านาน ในตำนานของบ้านเรา เชื่อกันว่าท่านมีอยู่ ๓ องค์

เป๋นพี่น้องกันเป็นผู้ดูแลปกปักรักษาอาณาเขตของไทย

นามปู่เจ้าสมิงไพร ท่านดูแลเทือกเขาตั้งแต่ภาคกลาง ขึ้นไปถึงภาคเหนือ

 



 

นามปู่เจ้าเขาเขียว ท่านดูแลเทือกเขาภาคตะวันออก ไปจนถึงอีสาน

 

 



นามปู่เจ้าสมิงคา ท่านดูแลเทือกเขาภาคใต้ทั้งหมด

คติความเชื่อนี้ ก็จะไปตรงกับความเชื่อฤาษีท้าวหิมวัตน์ เจ้าแห่งเทือกเขาหิมาลัย

ซึ่งก็มีส่วนคล้ายกันกับบ้านเรา ที่ก็รับคติความเชื่อบางส่วนมาจากอินเดีย

 

  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าท่านเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหญ่ บารมีท่านไม่น้อยไปกว่าเทพเทวาองค์ใด
เพราะถ้ายึดตามตำนานภารตะ ท่านก็คือบิดาแห่งพระแม่อุมา พ่อตาของพระอิศวร
หากจะมองและยึดถือ ว่าท่านเป็นเพียงบรมครูแห่งการทำเสน่ห์ เจ้าแห่งภูติพราย

ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวแห่งบารมีของท่านเท่านั้น

คิดแบบนั้นก็ไม่ต่างจากลดคุณค่าและเกียรติของท่านไปโดยไม่รู้ตัว

 

ใครที่สื่อและเข้าถึงท่านได้ จะรู้ว่าท่านอยู่มานับกัลป์ ด้วยเหตุผลเล็กน้อยแต่แสนยิ่งใหญ่

ซึ่งผมคงไม่เอามาบอกและสาธยายใดๆ อาจจะมีคนรู้แล้ว หรืออาจจะยังไม่รู้ วันนึงอาจจะมีคนมากมายได้รับรู้

แต่เรื่องนี้คงต้องเป็นปริศนาให้ได้ขบคิดกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ บารมีและความเมตตาของท่าน

ที่หากใครศรัทธาและรักเคารพท่านด้วยใจจริง ย่อมต้องได้รับถึงพลังและบารมีแห่งปู่เจ้าฯ ที่ท่านเมตตาลูกหลายผู้ศรัทธาทุกๆคน

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
เรื่องเล่า ตำนานเสือสมิง
เสือสมิง ตำนานลี้ลับที่ยังคงไม่มีคำตอบ
17 ม.ค. 2025
ว่าเรื่อง"ขุนแผน"
ที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับขุนแผน......
8 มิ.ย. 2024
“ศรัทธา” บันไดขั้นแรกของการอธิษฐานขออะไรก็สำเร็จ
อธิษฐานขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากแรงครู แล้วไม่ได้ อธิษฐานขอแล้วไม่สำเร็จ ต้องทำยังไถึงสำเร็จ อยากรู้จงอ่าน....
5 ก.พ. 2024
icon-messenger
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy