"ไสยศาสตร์เป็นเรื่องของคนโง่"
"ไสยศาสตร์เป็นเรื่องของคนโง่"......คำนี้ท่านพุทธทาส ท่านได้เคยกล่าว
ไว้ ถ้าหากเป็นคนที่ไม่เชื่อถือไสยศาสตร์ เห็นไสยศาสตร์เป็นสิ่งงมงาย
ได้ยินประโยคนี้แล้วคงจะรู้สึกสะใจลึกๆ แต่ถ้าหากเป็นคนที่เชื่อถือ
ไสยศาสตร์ จะมากหรือน้อยอยู่ก็คงจะรู้สึกขุ่นข้องหมองใจ
กับประโยคดังกล่าว
แน่นอนครับว่าเมื่อได้อ่านประโยคนี้ครั้งแรก ก็รู้สึกขุ่นข้องหมองใจ
แม้โดยส่วนตัวจะชื่นชอบและอ่านหนังสือของท่านพุทธทาส
แต่อ่านประโยคข้างต้นแล้ว ก็ทำเอาเลิกอ่าน เลิกฟังธรรมของท่านไปพักนึง
เหตุเป็นเพราะว่ารู้สึกเจ็บอยู่ลึกๆ กับประโยคข้างต้น
และต้องการจะพิสูจน์อะไรบางอย่างว่า
คนเชื่อถือไสยศาสตร์นั้นไม่ได้ "โง่"
จึงได้พยายามทำความเข้าใจ ศึกษาเพื่อจะได้มีสิ่งมาโต้แย้ง
กับประโยคข้างต้น เอาไว้เผื่อถกเถียงหากจะมีใครบางคน
มาปรามาสคนเชื่อถือไสยศาสตร์ด้วยประโยคนี้
แต่เมื่อศึกษาในหลายๆตำรา ก็ได้ค้นพบและฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า
ประโยคดังกล่าวของท่านพุทธทาสนั้น
ก็มีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย
เหตุเพราะในตำราเล่าเรียนไสยศาสตร์หลายๆตำราเอง
ก็ยังกล่าวไว้ว่า คนที่สามารถเข้าถึงไสยศาสตร์ได้
มี ๒ ประเภท
๑.โง่ที่สุด
๒.ฉลาดที่สุด
ดังนั้นประโยคที่ว่า "ไสยศาสตร์เป็นเรื่องของคนโง่" ก็อาจจะไม่ผิดไป
เท่าใดนัก เรามาพิจารณากันถึงความหมายของคนโง่ และคนฉลาดกัน
ซึ่งความหมายของ คนโง่ และคนฉลาด ในการเรียนไสยศาสตร์นั้น
ต่างจากความหมายที่เข้าใจกัน
คนโง่ในที่นี้ ไม่ใช่หมายถึงพวกโง่แบบไม่มีสติปัญญา
หรืออ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ไร้การศึกษา
สอนอะไรไม่เข้าใจ โง่แบบบรมโง่ แบบไม่มีสมอง
ซึ่งแบบนั้นอย่าว่าแต่เรียนไสยศาสตร์เลย
การศึกษาธรรมดาก็ไม่รู้ว่าจะเรียนได้สำเร็จหรือเปล่า
ส่วนคนฉลาดของการเรียนไสยศาสตร์
ก็ไม่ใช่หมายถึงคนที่อ่านออกเขียนได้ หรือมีการศึกษา
มีปริญญาแต่อย่างใด
อีลอน มัสก์ เคยกล่าวว่า
คนมักจะเข้าใจไปว่าโง่กับคนไร้การศึกษานั้นคือคนเดียวกัน
แต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะบางคนก็มีปริญญาพร้อมกับเป็นคนโง่
ก็มีอยู่มากมาย
มีบางท่านกล่าวว่า
ที่ทุกวันนี้โลกของเรามันวุ่นวายมากทุกวันนี้
ก็เพราะว่ามันมีคนโง่ที่มีการศึกษาเต็มไปหมด
ถ้าความหมายของคำว่า
คนฉลาด คือคนรู้เยอะ
คนโง่ คือคนรู้น้อย
รู้เยอะ ก็ย่อมมีคำถามเยอะ
คนรู้น้อยก็ย่อมมีคำถามน้อยตามไปด้วย
"คนโง่ "มักจะไม่ค่อยสงสัย
เมื่อไม่สงสัย ก็ไม่มีเรื่องให้หาคำตอบ หรือต้องลังเลอะไร
ส่วนคนที่ฉลาดที่สุด เมื่อมีสิ่งสงสัย ก็มักจะพยายามหาคำตอบ
ลงมือปฎิบัติ ฝึกฝนเพื่อให้หายสงสัยด้วยตัวเอง
ซึ่งต่างจากคนฉลาดแบบครึ่งๆกลางๆ
ที่มักจะแค่ตั้งข้อสงสัยแล้วไม่ลงมือปฎิบัติเพื่อ พยายามหาคำตอบ
การศึกษานั้นมีอยู่สองอย่าง คือภาคทฤษฎี กับภาคปฎิบัติ
ภาคทฤษฎี สอนให้ตั้งคำถาม ส่วนภาคปฎิบัติ นั้นสอนให้หาคำตอบ
ปัญหาของผู้ร่ำเรียนไสยศาสตร์นั้น เรามักจะเรียนทฤษฎีมากกว่า
ปฎิบัติ เมื่อเรียนทฤษฎีมาก ปฎิบัติน้อย จึงเต็มไปด้วยคำถาม
สิ่งสงสัย เมื่อสงสัยมาก แล้วไม่ได้ลงมือปฎิบัติเพื่อหาคำตอบ
ความสงสัยนั้น ก็กลายเป็นความลังเลไปในที่สุด
การปฎิบัติ คือการที่เราพยายามเดินข้ามความกลัว ความไม่กล้า
ความลังเลสงสัยต่างๆ ยิ่งปฎิบัติมาก ก็ยิ่งเพิ่มพูนความมั่นใจได้มาก
ความสงสัยต่างๆ ก็ลดน้อยลงไป
ความสงสัย เรียกกันอีกอย่างว่า ความกลัว ความไม่ไว้ใจ
คำถามมาก คือกลัวมาก
สงสัยมาก คือไม่ไว้ใจมาก
ไสยศาสตร์เป็นสิ่งเพิ่มพูนกำลังใจ และกำจัดความกลัวต่างๆให้หมดสิ้นไป
เมื่อคุณยังขจัดความกลัวไม่ได้ คุณก็ยังไม่อาจจะเข้าถึงความสำเร็จจากการ
เรียน สำเร็จจากการใช้ไสยศาสตร์ได้ และคุณก็ยังคงลังเล สงสัยต่อไป
เพราะว่าตัวคุณยังไม่ยอมปฎิบัติให้รู้ด้วยตัวคุณเองเสียที
คนโง่ที่สุด ในความหมายของไสยศาสตร์ก็คือ
"คนที่ไร้ข้อสงสัย ไม่มีข้อกังขาใดๆ"
คนฉลาดที่สุด ในความหมายของไสยศาสตร์ก็คือ
"คนที่ลงมือปฎิบัติ จนสิ้นข้อสงสัยใดๆ"
หาใช่พวกที่โง่ไร้สติปัญญา อ่านหนังสือไม่ออก หรือหาใช่คนมีปริญญาจบ
ด็อกเตอร์อันใด แต่มันคือผู้ที่ไม่มีความสงสัย และเชื่อมั่นอย่างหมดหัวใจ
ว่าไสยศาสตร์นั้นมีจริง อาคมทั้งหลายนั้นศักดิ์สิทธิ์จริง ช่วยเหลือ และเป็น
ที่พึ่งพายามเมื่อเราเข้าตาจนได้จริงๆ
ไสยศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ใดๆกับคุณ เพื่อให้คุณเชื่อว่ามันมีจริง
หากแต่คุณเองต่างหาก ต้องพิสูจน์ตัวเองกับไสยศาสตร์
ว่าคุณนั้นคู่ควรกับการจะใช้มัน
ดังนั้นหากอยากจะเข้าถึงไสยศาสตร์ คุณก็ต้องเลือกเอา
ว่าจะคนประเภทไหน ซึ่งตัวผมเองทั้งโง่ที่สุด และฉลาดที่สุด
ก็ผ่านมาหมดแล้ว บางคนนั้นยังแยกไม่ออก ยังสงสัย ยังพยายามหาคำ
ตอบ หากแต่ปัญหาคือ หาคำตอบแต่ทางทฤษฎี แต่ไม่ลงมือปฎิบัติ
ด้วยตัวเอง รอแต่ฟังจากคนอื่นๆ ฟังจากคำบอกเล่า
สุดท้ายก็ค้างๆคาๆอยู่แบบนั้น แล้วสุดท้ายก็ถอดใจจากไสยศาตร์ไปเอง
ซึ่งคนประเภทนี้ผมเจอมาอย่างมากมาย ยิ่งยุคปัจจุบันนี้
ที่ไสยศาสตร์แพร่หลาย และเข้าถึงได้ง่ายปานใด
คนประเภทนี้นับวันก็ยิ่งจะมากยิ่งๆขึ้นไป
ขึ้นชื่อว่าไสยศาสตร์ มันก็คือมายาศาสตร์
ที่ดูเหมือนจะเท็จแต่มันกลับจริง
บางครั้งดูจริงแต่มันกลับเป็นเท็จ
กำกวม หลอกล่อให้บางคนเชื่อถือ
และให้บางคนหมดความเชื่อถืออยู่แบบนี้
มานับตั้งแต่เริ่มต้นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาแต่ครั้งโบราณแล้ว
และมันก็จะกำกวมแบบนี้ รอให้มนุษย์มาพิสูจน์และถกเถียง
ความมีอยู่ของไสยศาสตร์ต่อไป เช่นนี้แล......