ข้อห้ามของคนเล่นของ ถือวิชา
ข้อกำหนดถือห้ามของคนเล่นของ หรือถือวิชา
พกแล้วมีข้อห้ามอะไรมั้ย?
สักยันต์นี้แล้วมีข้อห้ามอะไรมั้ย?
หรือ วิชานี้เรียนแล้วมีข้อห้ามอะไรบ้าง
นี่คือคำถามที่มักจะมีต่อๆมา หลังจากบูชาวัตถุ สักยันต์ต่างๆ
เพราะการถือของ กับคนเล่นของนั้นมันคือสิ่งคู่กัน
ข้อห้าม ข้อปฎิบัติต่างๆของคนเล่นของ ในแต่ละสำนักนั้นกำหนดไว้ต่างกัน แต่ก็มีข้อห้ามหลายๆข้อ
ที่ใกล้เคียงและตรงกันก็มักจะอยู่ในศีล ๕ ส่วนที่เพิ่มเติมมาก็จะเป็น
๑.ไม่ถมน้ำลายลงโถส้วม
๒.ไม่ลอดราวผ้า
๓.ห้ามลอดสะพานหัวเดียว
๔.ห้ามกินบวบ ฟักแฟง มะเฟือง น้ำเต้า
๕ห้ามลอดราวผ้า หรือห้ามผ้าถุงข้ามหัว ฯลฯ อีกหลายๆข้อ
บทความที่แล้ว ผมเขียนเรื่องต้องธรณีสาร
หนึ่งในเหตุผลที่ต้องธรณีสารนั้น มาจากการที่ผิดข้อห้ามต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์กำหนดไว้
อาจจะมีบางท่านที่สงสัยว่า แล้วข้อห้ามต่างๆของวิชานั้น กำหนดไว้เพื่ออะไร
เป็นศีล ๕ นั้น ก็พอเข้าใจได้อยู่ ว่าต้องการให้สูกศิษย์นั้นเป็นคนดี อยู่ในศีล
แต่ข้อห้ามอื่นๆนั้นเพื่อจุดประสงค์อะไรแล้วมันเกี่ยวอะไร กับการเป็นคนดีอยู่ในศีลตรงไหน
ดังนั้นบทความนี้ ผมจะมากล่าวสาธยายให้ฟัง ถึงเจตนาข้อห้าม
ที่ครูบาอาจารย์ท่านกำหนดมาคู่กับการจะเป็นคนเล่นของกัน
ข้อห้ามต่างๆที่ครูบาอาจารย์ได้กำหนดไว้ให้ถือนั้นไม่ได้เป็นการให้ถือตรงตามที่ว่าเพียงอย่างเดียว
หากแต่มันเป็นอุปมา อุปมัย คือเป็นข้อสอนและเตือนใจกลายๆ
เช่นว่า
๑.ไม่ถ่มน้ำลายลงโถส้วม (อันที่จริงแล้วรวมในไม่เอ่ยวาจาในยามถ่ายหนัก-เบา ในห้องสุขาด้วย)
อุปมาคือ ให้ถือสัจจะและรักษาคำพูด อย่าให้วาจา(น้ำลาย)ตัวเองไม่มีค่าราคาใดๆ พูดอะไรเชื่อถือไม่ได้
และไม่กล่าวคำหยาบคาย ด่าทอผู้อื่น เอ่ยวาจาผรุสวาส เปรียบดั่งอาจมที่ใครๆก็อยากเบือนหน้าหนี
หรือว่าอีกอย่างก็คือ อย่าทำปากตัวเองเหมือนดั่งกระโถน ที่มีแต่อาจม
๒.ไม่ลอดราวผ้า คืออย่าก้มหัวและยอมแพ้ใครง่ายๆ ศิษย์มีครูดั่งงูมีพิษ ควรจะหยิ่งในศักดิ์ศรีและทระนงตน
๓.ไม่ลอดสะพานหัวเดียว อธิบายถึงสะพานหัวเดียว คือสะพานที่มีทางขึ้นลงทางเดียวยื่นออกไปในน้ำ
คือไม่สามารถใช้เดินข้ามน้ำได้ จึงเป็นการอุปมาถึง อย่าเป็นคนทำอะไรครึ่งกลางๆ
และอีกอย่างก็คือ อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัวคน และอย่าทำตัวโดดเดี่ยว ควรจะรักและสามัคคีกับเหล่าศิษย์คนอื่นๆ
เพราะคนเดียวนั้นไร้กำลัง จะทำกิจการใดๆย่อมสำเร็จได้ยาก
หากมีหลายคน หลายแรงช่วยกัน สิ่งใดๆก็สำเร็จได้ไม่ยาก
๔.ห้ามกินบวบ ฟักแฟง น้ำเต้า มะเฟือง ข้อนี้อุปมาถึง บวบ,ฟักแฟง,น้ำเต้านั้น เป็นพืชผักที่กลวงใน
เปรียบจะเป็นคนสักยันต์นั้น ต้องแข็งแกร่ง เป็นคนจริง อย่าเป็นคนกลวงในและมีแค่เปลือก คืออย่าปอดแหก ต้องใจกล้า
ส่วนมะเฟืองนั้น ลักษณ์เหลี่ยมเยอะ เปรียบคือ อย่าเป็นคนเหลี่ยมจัด และก็ให้ระวังอย่าเสียเหลี่ยมใคร
และมีอีกว่า พวกฟักแฟง บวบนั้น มีฤทธิ์เป็นยาเย็นทำให้อาจจะไปล้างสรรพคุณต่างๆของพวกน้ำมันว่านยาที่สักไป
ทำให้สรรพคุณด้อยลงไป
๕.ห้ามลอดราวผ้า ใต้ผ้าถุง คืออย่าไปยอมก้มหัวให้ใครง่ายๆ
ศิษย์มีครูเหมือนงูมีพิษ ควรจะรักและหยิ่งในศักดิ์ศรีของตน
ห้ามลอดใต้ผ้าถุงคือ อย่าเป็นคนหน้าตัวเมีย หรือเกาะผู้หญิงกิน หรือปล่อยให้สตรีครอบงำ
และยังมีปลีกย่อยมากมาย เช่นห้ามกินสะระแหน่ คืออย่าไปสาระแน(ขี้เสือก)เรื่องชาวบ้าน
ห้ามขับถ่ายลงน้ำ อันนี้คนโบราณนั้น ดื่มและใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลอง หากไปขับถ่ายลงน้ำ
ก็สกปรกสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน ทำให้คนนั้นไม่อาจจะอาบและกินน้ำในคลองนั้นได้
เอาว่าขอยกตัวอย่างให้อ่านกันเท่านี้ เพราะหากว่าสาธยายข้ออื่นๆอีกมากมาย ผมเกรงว่า เดือนนึงก็คงจะสาธยายให้ฟังไม่หมดแน่ๆ
มาพิจารณากันจากที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าข้อกำหนดข้อห้ามต่างๆ ของคนถือของเรียนวิชานั้น
เจตนาหลักๆคือเพื่อเอาไว้สอนใจและให้ปฎิบัติตนให้เป็นคนดี มีศีลธรรม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
บางคนไม่ได้ศึกษา ไม่ได้รู้เรื่องไสยศาสตร์ มาเห็นข้อห้าม ข้อกำหนดของคนเล่นของข้อต่างๆ ก็รู้สึกว่าตลกขบขัน
และรู้สึกให้ปฎิบัติเพื่ออะไร? ไม่เข้าท่าเอาเสียเลย นี่ล่ะครับ ความตื้นเขินของคนยุคนี้
ที่เข้าไม่ถึงภูมิปัญญาและความละเอียดลึกซึ่งของภูมิปํญญาโบราณ คนสมัยนี้จึงมักจะฉาบฉวย
ไม่เข้าใจอะไรอย่างถ่องแท้แบบคนยุคก่อนนี้
ทีนี้มาว่ากันต่อ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามข้อห้ามต่างๆเหล่านี้ วิชาต่างๆ วัตถุต่างจะเสื่อมหรือไม่
อันนี้สารภาพตามตรงว่าผมไม่ทราบ แต่ยังไงก็ตามการที่เราจะไม่ใส่ใจในข้อห้ามต่างๆ ทั้งโดยตรงความคำหรือทั้งคำอุปมา อุปมัย
มันก็คือการละเลย ไม่ใส่ใจคำพูด วาจาของครู เปรียบแล้วก็คือการไม่เคารพครู
เหตุแห่งการต้องธรณีสาร หลักๆแล้วก็มาจากการไม่เคารพครู
ดังนั้นแล้วการทำผิดข้อถือห้าม จะต้องธรณีสาร แรงครูที่อยู่ในวัตถุและยันต์ต่างๆจะเสื่อมถอยไป
ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะสำหรับทางไสยศาสตร์นั้น ทุกๆสิ่งสำเร็จได้ด้วยแรงครู
มีประโยคนึงที่ว่าของดีย่อมรักษาคนดี ไม่ว่าเราจะมีของดี สักยันต์ในตัวมากมายเพียงใด
แต่หากเราไม่ประพฤติตามข้อกำหนดต่างงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ผู้ที่สักยันต์ เล่นของ ถือวิชานั้น
ทำตัวให้เป็นคนดี อยู่ในศีลธรรม เป็นคนชั่วคนเลวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ครูบาอาจารย์ พลังเหนือโลกต่างๆท่านก็ย่อมไม่คุ้มครองและรักษา
และในอีกทางคือหากเราเป็นคนดี ประพฤติดี ต่อให้ไม่มีของ ไม่ได้สักยันต์ ลงวิชาใดๆ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังเหนือโลก ท่านก็ย่อมให้ความคุ้มครอง
ไสยเวทย์อาคม เป็นสิ่งหนึ่ง เป็นอุบายหนึ่งของคนโบราณ ในการจะดึงให้คนนั้นเข้าในศาสนา
มีศีลธรรม ไสยศาสตร์ เป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม ให้ยับยั้งอยู่ในหัวใจ
ในยุคที่ความเสื่อมลงของศีลธรรมนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยๆข้อถือห้ามต่างๆ
ก็มีไว้เพื่อไม่ให้ศิษย์นั้นกระทำความชั่วและสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม
สำนักฤษเวทย์ ไสยเวทย์วิทยาและมนตราอีสาน